Art Radar interviews Araya Rasdjarmrearnsook: Between Writing and Art

Art Radar : ฉันสงสัยในวลีที่ว่า "พยายามกลับไปเป็น..." ในชื่อของนิทรรศการที่ว่า "ศิลปินกำลังพยายามกลับไปเป็นนักเขียน" คำว่า “return” นั้นหมายความว่าคุณเคยทิ้งงานเขียนอย่างนั้นหรือ?

( I’m curious about the phrase "Trying to Return" in the exhibit title An Artist is Trying to Return to ‘Being a Writer’. Does "return" here mean that you once abandoned or set aside writing? )


อารยา : ฉันเริ่มเขียนและเผยแพร่ครั้งแรกตอนเรียนป.ตรี ชั้นปีที่ 1 พิมพ์ในหนังสือรับน้องใหม่มหาฯลัยศิลปากร พออายุ 30 มีเรื่องสั้นได้ตีพิมพ์ในนิตยสารผู้หญิงที่ป็อปปูลาร์มาก ชื่อ ลลนา ช่วงเวลาเรียนต่อที่เยอรมัน 3 ปี ฉันเขียนมาก ทำบทความบทสัมภาษณ์และถือเป็นอาชีพหนึ่งเมื่อมีคอลัมน์ประจำในหลายนิตยสาร นานเป็นปีฉันเขียนงานเดือนละ 7 บท (นิยาย สารคดี บทความศิลปะ) จนวางมือก่อนหน้านี้ราว 3 ปี เพราะอยากทำศิลปะโดยไม่พะวงการส่งต้นฉบับ

return จึงหมายตามคำถามของคุณ แต่หมายมากกว่าตรง ก่อนจะละงานเขียน ฉันอาจจะยังจริงจังกับงานนี้ไม่พอจึงอยากจะกลับไปทำให้จริงจังกว่านี้



Art Radar : คุณยังพอจะจำได้หรือไม่ว่าอะไรที่เข้ามาในชีวิตของคุณก่อน ระหว่างการเขียน หรือการสร้างงานทัศนศิลป์ หรือทั้ง 2 บทบาทเข้ามาในเวลาเดียวกัน?

( Could you still recall which came first in your life: the joy of writing stories or creating visual art? Or did both practices arrive at the same time? )


อารยา : งานเขียนมาทีหลัง ตอนเป็นเด็กเราวาดรูปก่อนตอนยังไม่รู้คำมากนัก ฉันเรียนศิลปะในวิทยาลัย 3 ปี พอมหาลัยฯ ปี 1 ฉันเริ่มเขียนส่งไปลงหนังสือของมหาวิทยาลัย ดูเหมือนงานเขียนเริ่มช้ากว่าศิลปะ 4 ปี



Art Radar : ช่วยพูดถึงการเขียนงานของคุณหน่อย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อคุณกำลังนำเสนอไอเดีย “ระหว่างงานเขียน กับ งานศิลปะ”

คุณเคยเผชิญกับปัญหาในการทำงาน (writing vs art) เพื่อส่งสารออกไปไหม?

( Could you talk a bit about your writing habits, especially since you once expressed that you develop ideas "between writing and art"? Do you ever face that conflict of which practice (writing vs. art) to use in order to send your message across? )


อารยา : ฉันมักอิ่มเอิบในคำ มากกว่าติดอกติดใจในภาพ โดยวิธีประทับ ‘คำ’ มากกว่าร่างภาพ ใช้คำนำจินตนาการ ใช้คำเร้าจินตนาการ เป็นค่าตั้งต้น พอเข้าที่ คำ ก็คลอไปกับภาพแบบแยกไม่ออก writing vs art มาเกิดทีหลังเมื่อพบว่าใช้ ตัวบท หรือ text ในศิลปะมาก (แต่ตัวบทมากับอีกอาชีพหนึ่งคือการสอน งาน The Class, Death Seminar มาจากอาชีพการสอนและการใช้ภาษา)



Art Radar : นวนิยาย และงานเขียนของคุณ สะท้อนลักษณะของงานศิลปะของคุณออกมา ทั้งยั่วยุ โกรธเกรี้ยว และเป็นการสำรวจโครงสร้างทางสังคม คุณช่วยเล่าเกี่ยวกับงานเขียนของคุณหน่อยได้ไหมว่าสังคมไทยยอมรับมันอย่างไร? เหล่าศาสตราจารย์วิจารณ์มันแตกต่างออกไปจากการวิจารณ์งานทัศนศิลป์ของคุณหรือไม่? พวกเขาอะลุ่มอล่วยมากกว่าไหม เมื่อเห็นว่ามันเป็นงานเขียนที่ไม่ได้ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงและรวดเร็วเท่า?

( Your novels and other written works echo your art's characteristics - provocative, aggressive and exploratory of societal constructs. Could you talk a bit about how your writings are received by Thai society? Do professors' critiques differ from what they have to say about your visual art? Or are they more forgiving since writing doesn't have a "quick" impact? )


อารยา : ฉันถูกวิจารณ์ว่างานเขียนนุ่มกว่างานศิลปะ อาจเพราะมันมีการเรียบเรียงลำดับมากกว่าการคิดงานศิลปะ ซึ่งปะทุบางความหมายออกมาได้แรงๆเลย (แต่สำหรับสังคมไทยที่ผู้หญิงไม่มีทางออก ช่วงหนึ่งนักเขียนหญิงเขียนงานอีโรติกกันมาก ฉันเคยถูกสรุปว่าอยู่ในกลุ่มนั้นช่วงหนึ่ง ซึ่งพอมองกลับไป ฉันพบว่าเป็นทางออกที่เราต้องเป็นผู้หญิงเรียบร้อยดีงาม ฉันเห็นตัวเองว่าเรียบร้อยมาก ลูกสาวที่ดี นักศึกษาหญิงที่ตั้งใจเรียนที่สุดในชั้น เพื่อสนองฮอร์โมนวัยสาวและการปะทุความท้าทายต่อวัฒนธรรมเพศสภาพฉันไม่ลังเลที่จะเขียนฉากที่ไม่ควรเปิดเผย การทำอย่างนี้ ฉันพบว่างานเขียนและศิลปะเป็นทางแห่งการแสดงความจริงในฐานะมนุษย์ ในขณะที่สังคมกำกับให้มันหักเหภายใต้ความเหมาะควร) งานเขียนชื่อ ‘ผมเป็นศิลปิน’ ตีพิมพ์ยาวนานเป็นปีโดยเรียกตัวเองว่า ผม (สรรพนามบุรุษที่ 1 ที่เป็นผู้ชาย) สร้างความโกรธเกรี้ยวให้กับวงการศิลปะมาก และนับจากนั้นมีผลกรรมด้านอื่นๆที่กระทบชีวิตตามมาจากคนในวงการที่ฉันจำเป็นต้องรับกรรมนั้นเพราะได้ลงมือเผยแพร่ไปแล้ว

ในเมืองไทยงานเขียนเข้าถึงคนมากกว่าศิลปะ โดยเฉพาะการตีพิมพ์ในนิตยสารการเมืองที่รวมวรรณกรรมไว้ด้วย ระหว่างเขียนฉันรับอีเมลล์พร้อมไวรัสจนทำให้ต้องเขียนซ้ำเพราะตัวบทหายไปในพริบตา และฉันก็อดทนเพื่อให้ส่งต้นฉบับได้ทันเวลา งานศิลปะที่ท้าทายสังคมถูกวิจารณ์ในระบบโดยนักวิชาการ และประเมินมันว่าไร้จริยธรรม แต่ไม่มีใครว่างานเขียนว่าไร้จริยธรรม แปลว่างานเขียนและวงการงานเขียนในแง่หนึ่งดูเหมือนใจกว้างกว่าหรือเปล่า? ก็น่าคิด



Art Radar : ปฏิกิริยาที่สนองต่องานชิ้น ‘The Cruel..’ ทำให้เรานึกย้อนไปถึงบทสัมภาษณ์ของคุณในนิตยสาร Art Signal เมื่อปี พ.ศ. 2550 สัมภาษณ์โดย Brian Curtain คุณพูดถึงการทำงานในระบบการศึกษาว่า “น่าเบื่อ สิ่งที่แวดล้อมตัวงานนั้นไม่ได้มีเพื่อศิลปะ” ณ ขณะนี้ เวลาล่วงเลยมา 10 ปีแล้ว มีการพัฒนาในพื้นที่ของการศึกษาและศิลปะร่วมสมัยบ้างหรือไม่?

( Speaking of reactions towards your work, The Cruel… reminds me of an interview you did back in 2007 with Brian Curtain for Art Signal. You mentioned that working in the academe is "Boring. The work environment is not for art." Now that ten years have passed, are there any improvements in area of academe and contemporary art? )


อารยา : แปลกที่ในขณะงานเขียนเข้าถึงผู้คนมากกว่า ผู้คนก็อะลุ่มอล่วยกับงานเขียนมากกว่าศิลปะ ฉันกำลังพูดถึงที่ปรากฏใน ‘The Cruel..’ งานสอนน่าเบื่อจนต้องลุกมาทำหลักสูตรแบบผสมผสานคือ ป.โททัศนศิลป์ (ไม่แยกจารีตสายเดี่ยว) และสหศาสตร์ศิลป์ ไม่วางฐานที่ประเภท และวิธีการ หรือเครื่องมือเช่นมีเดีย แต่วางบนฐานเดียวกับการดำเนินไป/ดำรงอยู่ของเรา คือ time space place

หลังจากก่อตั้ง 2 หลักสูตร ฉันก็หายใจออก/สะดวกมากขึ้นในการสอนศิลปะ นั่นคือตอบคำถามของคุณว่าฉันเชื่อมพื้นที่การศึกษา กับ ความร่วมสมัยอย่างไร (ไม่ใช่แค่ศิลปะ แต่เป็นชีวิตร่วมสมัย) ในขณะที่ฉันเป็นคนใฝ่อดีตมาก (ฉันไปยืนดูภาพพิมพ์อิมเพรชั่นนิสม์ที่นอร์มังดีขณะฟังเพลงคลาสสิคในมิวเซียม และหลงใหลจิตรกรรมชิ้นเล็กที่จิตรกรนอนอยู่บนสนามหญ้าหน้าบ้านตอนใกล้มืด มีหมูสีชมพูยืนอยู่ใต้ต้นไม้และพระอาทิตย์กำลังตกดิน) ฉันคิดว่าในขณะที่มีความรับผิดชอบต่อการศึกษาที่ต้องเคลื่อนไป ฉันก็ดูแลอดีตเอาไว้ในความชอบส่วนตัว ดังนั้นงานในระบบจึงเหมือนขั้วตรงกันข้ามกับรสนิยมส่วนตัวที่เปลี่ยนไปตามประสบการณ์ตามวัยและการมองโลกของตัวฉันเอง ฉันจึงบ่นว่าน่าเบื่อ การกลับมาเขียนอีกครั้งฉันกำลังเต้นรำอยู่ในความโหยหาอดีตในยุคสมัยที่แปลกหน้าของตัวเอง



Art Radar : ที่ยิ่งไปกว่านั้น ตอนนี้คุณเป็นศิลปินที่มีชื่อเสียงในระดับนานาชาติ ศาสตราจารย์ในไทยยังคงตั้งคำถามเกี่ยวกับจริยธรรมในงานของคุณหรือไม่? หรือว่าพวกเขาให้ความสนใจกับการสร้างสรรค์งานศิลปะของคุณแล้ว?

( Moreover, now that you're internationally-acclaimed, do Thai professors still question the ethics behind your work? Or do they already focus on art creation? )


อารยา : ฉันคิดว่าศิลปะเหมือนศาสนา ในเรื่องความเชื่อและศรัทธา และรวมทั้งผลประโยชน์ (โดยเฉพาะผลประโยชน์ที่หนุนอำนาจภายนอกที่อาจจะสอดคล้องหรือเบี่ยงเบนอำนาจภายในตัวคนทำงานศิลปะเอง) ดังนั้นทัศนะต่อศิลปะจึงเปลี่ยนได้ยาก เพราะนั่นเท่ากับ ตรงกับสำนวนไทย คือ เลื่อยขาเก้าอี้ตัวเอง คุณจะดูแลรูปทรงกับความหมายของเก้าอี้ หรือคุณจะใส่ใจผุยผงของเนื้อไม้ กลุ่มคนที่มีทัศนคติต่อศิลปะอย่างหนึ่งแม้เขาจะเห็นมากขึ้น แต่เขาจำเป็นต้องคงอำนาจที่คุ้นเคยไว้กับตัว วันที่โลกหมุน แผ่นดินสะเทือน เขาก็ไปไหนไม่ได้เพราะเครื่องมือในการปรับเปลี่ยนทัศนคติไม่ทำงาน ‘ความยึดมั่น’ จึงเป็นสิ่งยึดเหนี่ยวที่ทำให้ไม่รู้สึกว่าเป็นศูนย์ หรือเป็นอะไรที่ตรงกันข้ามกับที่เคยเป็น คือมันเก้ๆกังๆ คนไทยว่า เป็นได้ไม่เหมือน แปลว่าไม่ถนัด



Art Radar : นี่อาจจะเป็นคำถามที่ฟังดูตลกไปสักหน่อย แต่พวกเราอยากจะรู้ว่าอะไรสำคัญของคุณในการเลี้ยงดูสุนัข ตลอดเวลาหลายปีที่ผ่านมา มีนักเขียนที่ยืนยันว่าสัตว์เลี้ยงของพวกเขาเป็นหนึ่งในแรงบันดาลใจของพวกเขา คุณมีประสพการณ์แบบนี้กับสุนัขของคุณหรือไม่? การสร้างงานศิลปะเกี่ยวกับสุนัขช่วยทำให้คุณเข้าใจ ‘เด็กๆ’ ของคุณมากขึ้นหรือไม่?

( This may seem like a funny question, but we're curious to know the most significant thing you learned from taking care of dogs. Through the years, authors have claimed that their pets whisper story ideas to them. Do you experience this with your dogs? Has creating art about dogs helped you understand your 'kids' better? )


อารยา : พออายุมากขึ้นฉันชอบคุยเรื่องหมามากกว่าศิลปะ (ทิศทางไร้สาระมากกว่าความที่อาจจะต้องจริงจัง เรายังต้องจริงจังกับศิลปะอยู่ใช่มั้ย?) คุณจึงไม่ต้องออกตัวกับคำถามแบบนี้เลย ฉันเก็บหมามาเลี้ยงเพราะฉันมีระดับ ความเวทนา หรือความเห็นอกเห็นใจที่ถูกกระทบฉันเองได้ง่าย พูดได้ว่า “ฉันมีต่อมเดรัจฉานตื้น” ฉันจะทุกข์มากกว่าถ้าจะไม่ลงมือ แม้ว่าพอลงมือแล้วหมายถึงความรับผิดชอบที่มาก เวลา ค่าใช้จ่าย และความสะเทือนใจในชะตากรรมของชีวิตที่ดูแลตัวเองไม่ได้ (เหมือนการทำหลักสูตรศิลปะที่อิสระกว่าเดิมในสถาบันการศึกษา เพราะฉันถูกรบกวน และไม่ยอมให้ตัวเองถูกกวนใจถี่ และบ่อยเกินไป จึงลงมือ ซึ่งทำให้เพื่อนร่วมงานในมหาลัยฯศิลปะซึ่งคิดว่าอยู่อย่างนี้ก็ดีแล้วลำบากใจ ถ้าได้เกิดชาติหน้าฉันอาจต้องหาอาชีพอื่นทำ โดยเฉพาะถ้าเพื่อนร่วมงานระลึกชาติได้ว่าฉันทำอะไรไว้บ้าง) คำถามของคุณพูดถึงความผุดเกิดของนึกคิดจากสัตว์  ฉันไม่กล้าใช้คำอธิบายที่คมคายและฉลาดอย่างนี้กับเดรัจฉาน เพราะฉันอยากให้พวกเค้าเป็น 'kids' สำหรับฉัน มากกว่าแรงบันดาลใจ  ฉันไม่เคยหวังว่าจะได้จากหมาในเรื่องงานอาชีพเลย ไม่ว่าศิลปะหรืองานเขียน (ถ้าสัตว์จะเข้ามาอยู่ในงาน ก็เพราะอดใจไว้ไม่ได้ เหมือนคนที่ตกอยู่ในความรัก) และโดยเหตุที่ฉันวางตัวเป็นผู้ให้ อาหาร การดูแล ความรู้สึกที่ดีเช่นความเป็นที่รัก ฟูกที่นอนอบอุ่นและสะอาด (ที่พวกหมาจรจัดไม่เคยมี)  รักษาความป่วยไข้ (หมาตัวหนึ่งกำลังทำคีโมเทราปี ซึ่งทรมานฉันมาก เพราะการหายใจลำบากและเลือดหนองที่ไหลออกมาตลอดเวลา โดยรวมแล้วเดรัจฉานช่วยให้ความเป็นมนุษย์ของฉันเต็มอิ่มขึ้น หมาตัวหนึ่งมาอยู่ที่บ้านเพราะทุกครั้งที่พบกัน เธอซ่อนตัวอยู่ในร่องน้ำ ฉันอุ้มเธอกลับบ้านโดยความคิดที่ว่า ชีวิตต้องยืนได้อย่างเต็มตีน ฉันพบว่าเธอกลัวไม้กวาด ซึ่งคงทำให้ขาข้างหนึ่งของเธอบิด



Art Radar : ผลงานของคุณในนิทรรศการ ‘ศิลปินกำลังพยายามกลับไปเป็นนักเขียน’  ที่ 100 ต้นสนแกเลอรี่ มีความส่วนตัวเป็นอย่างมาก ผู้ชมจะได้เห็นว่า สังคมไทยไม่ใช่สิ่งที่โอบอุ้มงานศิลปะของคุณ ไม่สามารถกอดรัดความห่วงกังวลของคุณต่อการพลัดพราก หรือการเชื่อมโยงกันระหว่างสุนัขและเจ้าของของมัน รวมไปถึงเรื่องที่คุณสนใจ เช่น การเกิด การตาย ความเป็นหญิง ฯลฯ แล้วคุณต้องการให้ผู้ชมได้รับอะไรไปจากนิทรรศการครั้งนี้?

( Your pieces in An Artist is Trying to Return to ‘Being a Writer’ in 100 Tonson are highly personal. Audiences see here how Thai society is not embracing of your art, your deep concern for strays, the bond that exists between a dog and its human, and subjects that you're interested in: death, birth, being a women, etc. What would you like audiences to take away from this exhibition? )


อารยา : ฉันคิดว่ายากที่จะตอบคำถามเฉพาะ exhibition เพราะฉันคิดรวบทั้งโครงงาน ตามชื่อที่ตั้งไว้ พอเสร็จนิทรรศการฉันก็เริ่มเขียนราวกับนักเขียนอาชีพ ฉันถอนตัวออกจากการประชุม/พบปะที่ใช้ภาษาในแบบที่ต่างออกไปจากการเขียนนิยาย นั่นอาจถูกแปลว่าฉันจะตามใจตัวเองมากๆนับแต่บัดนี้ ซึ่งเป็นจุดที่เกี่ยวกับนิทรรศการในคำถามของคุณว่า highly personal  คุณจะหวังอะไรมากจากผู้หญิงแก่คนหนึ่ง ให้เธอนั่งรำพึงรำพันถึงอดีตของเธอเองไม่ได้เลยหรือ อย่าไปยุ่งกับรู้สึกนึกคิดของเธอมากนัก


งานเขียนกลับหนักหนาสาหัสกว่าที่เคยทำต่อเนื่องสามสิบกว่าปีในอดีต ตรงที่ในขณะที่ทุกอย่างเคลื่อนไหวอย่างผิวเผิน รวดเร็ว ฉันกลับต้องนั่งนิ่งๆ แล้วเคลื่อนแต่รู้สึกนึกคิดของตัวเองกับนิ้วที่พิมพ์  ตอนเตรียมงานนิทรรศการฉันเคลื่อนไหวมาก ขับรถไปโน่นนี่ได้หลายรอบในวันหนึ่ง กลางคืนยังส่องไฟแล้วเดินไปรอบๆงาน มันยังมีความเคลื่อนไหวทางกายภาพที่สัมพันธ์กับกายภาพอื่น พอนั่งเขียนหนังสือฉันพบว่า “ฉันกำลังจะกลายเป็นก้อนหิน” ฉันรู้สึกอย่างนั้น ผู้ชมงานนิทรรศการอาจไม่รู้ว่าศิลปินกำลังจะกลายเป็นก้อนหิน ที่ยังคงเลี้ยงหมาได้ และก้อนหินรู้สึกหนักหัวได้



Art Radar : ตัวคุณเองอยากที่จะถูกจดจำในฐานะศิลปินไหม?

( And, what would you like to be remembered for as an artist? )


อารยา : ในงานเขียนชิ้นหนึ่ง ฉันพบว่า หมาที่ฉันเดินทางไกลไปด้วยกันพยายามจะกระโดดกัดเสือไม้แกะสลักที่มีตาเป็นลูกแก้วหน้าร้านสุกี้ฯ และเห่าด่าผู้พันแซนเดอร์สอย่างเอาเป็นเอาตายหน้าร้าน KFC ที่ทำให้ฝรั่งบนรถทัวร์หัวเราะกันทั้งแถว เวลาเดินเล่นตอนเย็นในหมู่บ้าน มันซุ่มดูหุ่นไล่กาในทุ่งนานิ่งๆ เหมือนกำลังจะล่า ฉันสรุปว่าชาติที่แล้วมันเป็นศิลปินแน่ๆ แล้วมันยอมเกิดเป็นหมาในชาตินี้ เพื่อที่จะไม่ต้องเป็นศิลปินอีก

ความจดจำของมนุษย์แปลก  ภัณฑารักษ์ไทยไปดูงานฉันแล้วพูดถึงงานเขียนเฉพาะที่เป็นอีโรติก เธอคิดว่า ฉันขณะอายุ 60 อาจจะยังคงมีเชื้อฮอร์โมนสาวเจือปนอยู่

คุณเชื่อในความทรงจำหรือ ฉันใช้มันมากในการทำงานแต่ไม่เชื่อในมันเลย โดยเฉพาะเมื่อเป็นความทรงจำของคนอื่นที่มีนัยยะทางการดำรงอยู่ของพวกเขา ฉันเชื่อในทรงจำของฉันเอง เพื่อนนักเขียนคนหนึ่งมักตะลึงในรายละเอียดที่ฉันพรรณนา และบอกว่าเธอนึกไม่ออกเลย


Art Radar : คุณจะเขียนหนังสือในเร็วๆนี้ไหม? ถ้าใช่ ประเด็นอะไรที่อยากจะจัดการกับมัน?

( Will you be writing any books soon? If yes, what issues will it tackle? )


อารยา : ฉันกำลังขึ้นบทที่ 2 แล้ว ชื่อบทว่า ‘สูติอัปรีย์เวช’ ที่ประกอบด้วย ‘แผนกวาง-แขวนความขุ่นมัว’ (ล้อคำกับ สูตินรีเวช และ แผนกวางแผนครอบครัว)



สัมภาษณ์เมื่อ วันที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2560

ขณะที่นิทรรศการดำเนินไปแล้วได้ 2 เดือน


นวนิยาย โดย อารยา ราษฎร์จำเริญสุข

ผุดเกิดมาลาร่ำ

จะเปิดตัวในวันพฤหัสบดี ที่ 18 มกราคม พ.ศ.2561

ณ 100 ต้นสน แกลอรี่





12 Dec 2017

Between Writing and Art: the place of writing in Araya Rasdjarmrearnsook’s art – interview


Read more in English >> click here.